เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 บริษัท นัททัม จำกัด(Nuttam Co.,Ltd. ร่วมออกบูธประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการของบริษัทในงานประชุมวิชาการเพื่อการส่งเสริมบริหารจัดการและสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ใน จ.นครราชสีมา ในการนี้นายอนุสรณ์ ทนหมื่นไวย รองผู้อำนวยการ มว. พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานร่วมจัดงานได้แก่ ผศ.ดร.ทิพย์วรรณ ฟังสุวรรณรักษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือฯ สายงานวิศวกรรมศาสตร์และสนับสนุน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และนายสมนึก โลหณุต ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 9 และ ทพ.วิวัฒน์ ฉัตรวงศ์วาน “รองผู้อำนวยการภารกิจด้านวิศวกรรมทางการแพทย์และสิ่งแวดล้อม รพ.มหาราชนครราชสีมา ร่วมกันกล่าวต้อนรับและกล่าวแสดงความยินดี ในการที่หน่วยงานด้านการสอบเทียบเครื่องมือวัด หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข และสถาบันการศึกษา พร้อมทั้งภาคเอกชน ร่วมมือกันในการจัดงานการประชุมวิชาการ Medical Measurement Symposium 1st ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมบริหารจัดการและสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ใน จ.นครราชสีมา ภายใต้แนวคิด “การจัดการเครื่องมือแพทย์อย่างมีคุณภาพ การซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ การสอบเทียบเครื่องมือแพทย์และส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำห้องปฏิบัติการเครื่องมือแพทย์”
โดยการจัดงานตลอด 5 วัน ณ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ. นครราชสีมา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งจากหน่วยงานทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข หน่วยงานภาคการศึกษา และเอกชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภูมิภาคต่างๆ ที่สนใจ ร่วมงานในแต่ละวันกว่า 200 -300 คน ซึ่งประกอบไปด้วยการจัดกิจกรรม การบรรยายทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในหลากหลายหัวข้อ อาทิ หัวข้อ “การบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ตามแนวทางมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ และตามแนวทาง ECRI” หัวข้อ หลักการทำงานและการซ่อมบำรุง Infusion pump หัวข้อ หลักการสอบเทียบเครื่องตรวจสมรรถนะการได้ยินตามมาตรฐาน SMM 01 หัวข้อ หลักการสอบเทียบเครื่องวัดความดันโลหิตแบบไม่รุกล้ำ ตามมาตรฐาน SMM 02-1 หัวข้อ หลักการสอบเทียบเครื่องช่วยหายใจ ตามมาตรฐาน SMM 04-1 เป็นต้น รวมไปถึงการจัดนิทรรศการให้ข้อมูลความรู้ด้านวิชาการ และการให้บริการด้านการสอบเทียบเครื่องมือวัดทางการแพทย์ จากหน่วยงานทั้งภาคการศึกษา และภาคเอกชนต่างๆ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญจากห้องปฏิบัติการสอบเทียบทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ให้บริการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ อาทิเครื่อง Infusion pump และเครื่องช่วยหายใจ แก่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และหน่วยงานด้านการแพทย์ที่สนใจ ส่งเครื่องมือมาเพื่อเข้ารับบริการสอบเทียบ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความมั่นใจในผลการวัดให้กับผู้ใช้บริการเครื่องมือวัดทางการแพทย์ต่อไป
และในวันสุดท้ายของการจัดงาน นายทัศนัย แสนพลพัฒน์ นักมาตรวิทยาเชี่ยวชาญ มว. หัวหน้าโครงการสร้างศักยภาพการแข่งขันอุตสาหกรรมทางการแพทย์ Medical hub ในระดับภูมิภาคด้วยมาตรฐานสากล ได้ร่วมมือกับทีมผู้เชี่ยวชาญจัดกิจกรรมให้คำปรึกษา และแนะนำโครงการให้คำปรึกษา “ห้องปฏิบัติการเครื่องมือแพทย์คุณภาพ” เพื่อให้ข้อมูล และคำปรึกษา แก่บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงการให้คำแนะนำเพื่อการจัดการเครื่องมือแพทย์ และการจัดตั้งห้องปฏิบัติการสอบเทียบให้ได้การรับรองมาตรฐานตามระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025 เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการถ่ายทอดความรู้ มุ่งเน้นการจัดการเครื่องมือแพทย์อย่างมีคุณภาพ การซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ การสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ และส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำห้องปฏิบัติการเครื่องมือแพทย์ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมต่อไป